มโหสถบัณฑิต ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี



ในหมู่บ้านด้านปาจีนทิศอันมีนามว่า ปาจีนยวมัชฌคาม แห่งมิถิลานคร มีคหบดีผู้หนึ่ง เป็นเศรษฐีมีทรัพย์มหาศาล มีนามว่า สิริวัฒกเศรษฐี และนางสุมนาเทวีภรรยา พระโพธิสัตว์ จุติจากดาวดึงสพิภพ ปฏิสนธิในครรภ์นางสุมนาเทวีนั้น ในวันที่กุมารน้อยคลอด จากครรภ์มารดา ในมือยังถือแท่งโอสถ (ยา) ติดมาด้วย เศรษฐีบิดาจึงตั้งชื่อให้ว่า   " โอสถกุมาร "   ต่อมาแท่งยานั้น เป็นยาที่มีสรรพคุณยิ่งใหญ่ รักษาโรคได้ทุกชนิด เป็นที่ขึ้นชื่อลือชากันไปทั่ว กุมารน้อยจึงมีชื่อเพิ่มขึ้นว่า   "มโหสถกุมาร "
               พระเจ้าวิเทหราช ผู้เสวยราชสมบัติในนครมิถิลา ในครั้งนั้น มีนักปราชญ์ราชบัณฑิต ผู้ฉลาดสามารถ 4 คน คือ เสนกะ กามินทะ เทวินทะ และปุกกุสะ บัณฑิตทั้ง 4 นี้ เป็นผู้ถวายอนุศาสน์ อรรถธรรมแด่พระเจ้าวิเทหราช ต่อมามโหสถกุมารผู้ปราดเปรื่อง ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นบัณฑิตคนที่ 5 ของพระราชา นับเป็นบัณฑิตผู้มีอายุน้อยที่สุด และเฉลียวฉลาดสามารถที่สุด พระเจ้าวิเทหราชทรงรักใคร่เอ็นดู ประดุจดั่งพระราชบุตร
               มโหสถบัณฑิต เป็นผู้มีสติปัญญาสามารถมาตั้งแต่ยังเล็ก เมื่ออายุ 7 ขวบ ก็สามารถสร้างศาลา อันสวยงามโอ่โถงประดุจเทวสภา ชื่อสุธรรมา สร้างสระโบกขรณี อันน่ารื่นรมณ์ ดารดาษด้วยปทุมชาติ 5 ชนิด ราวกับว่าเนรมิตมาจากนันทนโบกขรณี แล้วยังสร้างอุทยานตระการตา สง่างาม เพียงดังอุทยานนันทวันในดาวดึงสพิภพ ฉะนั้น เป็นผู้สามารถตอบ แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แม้พระราชาวิเทหราช ก็ยังทรงทดสอบปัญญามโหสถกุมาร เป็นหลายครั้งหลายหน รวมทั้งบัณฑิตทั้ง 4 ของพระราชาก็ได้ทดสอบด้วยเช่นกัน
               มโหสถบัณฑิต ได้แสดงความเป็นผู้ปรีชาสามารถ ด้วยการวินิจฉัยปัญหาแก่ประชาชน ทูลตอบปัญหาของพระราชา และโต้ตอบคำถามทุกรูปแบบได้อย่างเชี่ยวชาญ ได้ช่วยรักษาเมืองมิถิลา ให้พ้นจากการยึดครองของปัจจามิตรได้ และช่วยพระเจ้าวิเทหราช ให้พ้นเงื้อมมือข้าศึกได้ โดยปลอดภัย จะได้นำมาแสดงเป็นเรื่องเท่านั้น
                           คนมีสิริกับคนกาลกรรณี
             
ครั้งนั้น มาณพชาวเมืองมิถิลาคนหนึ่ง ชื่อปิงคุตระ เป็นศิษย์คนโตในสำนักอาจารย์ ทิศาปาโมกข์ สำเร็จการศึกษา แล้วลาอาจารย์กลับบ้านเมืองตน ในสมัยนั้นมีธรรมเนียมอยู่ว่า ถ้าอาจารย์มีธิดาผู้เจริญวัยแล้ว ต้องยกธิดานั้นให้เป็นภรรยา ของศิษย์คนโตผู้เรียนจบแล้ว อาจารย์ทิศาปาโมกข์นั้น มีธิดารูปงามประดุจเทพอัปสรอยู่คนหนึ่ง จึงจำต้องยกให้ปิงคุตรมาณพนั้นไป แต่ปิงคุตระเป็นคนกาลกรรณีไม่มีบุญ ไม่ชอบนางกุมาริกานั้น รับนางไว้โดยคิดว่า จะปฏิบัติตามคำอาจารย์ เท่านั้น ไม่คิดรับนางเป็นภรรยาจริงๆ ปิงคุตระพานางกุมาริกาไปที่อยู่ของตน แต่ไม่สนใจว่านางจะเป็นอยู่อย่างไร เวลากินนางก็ต้องหากินเอง ถึงเวลานอน นางก็จะเข้าไปนอน บนเตียงกับปิงคุตระ ปิงคุตระเห็นนางมานอนเคียงข้าง ก็ลุกหนีไปนอนที่พื้นห้อง นางก็ลุกตามไปนอนด้วย ปิงคุตระเห็นนางมานอนด้วย ก็ลุกไปนอนบนเตียง คนหนึ่งหนีคนหนึ่งตาม อยู่อย่างนี้ทั้งคืน ขึ้นชื่อว่ากาลกรรณีย่อมไม่ร่วมกับสิริ เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างนี้ถึง 7 วัน ปิงคุตระจึงลาอาจารย์พานางกุมาริกา เดินทางไปเมืองมิถิลาบ้านเกิด ถึงเขตเมืองมิถิลาแล้ว ต่างคนต่างก็ร้อนและหิว จึงเข้าไปพักผ่อนที่ใต้ต้นมะเดื่อ (ต้นอุทุมพร) ที่มีผลสุกต้นหนึ่ง ปิงคุตระปีนขึ้นต้นไม้ เก็บผลมะเดื่อมากิน นางกุมาริกาหิวก็ขอกินบ้าง ปิงคุตระกล่าวว่า  " มือเท้าของเจ้าก็มี ก็ขึ้นมาเก็บกินเองซี "   นางจึงต้องปีนขึ้นเก็บผลมะเดื่อกิน ด้วยตนเอง ฝ่ายปิงคุตระ เห็นนางขึ้นไปอยู่บนต้นมะเดื่อ ก็รีบลงข้างล่าง ทำการล้อมต้นมะเดื่อ ด้วยลวดหนามแหลม โดยคิดว่า คราวนี้เราพ้นจากหญิงกาลกรรณีแล้ว จึงหนีไป นางกุมาริกานั้นเมื่อลงไม่ได้ ก็นั่งอยู่บนต้นไม้นั่นเอง วันนั้น พระเจ้าวิเทหราชเสด็จประพาส พระราชอุทยาน ผ่านมาทางนั้นในเวลาเย็น ทอดพระเนตรเห็นนางกุมาริกานั้น มีพระหฤทัยปฏิพัทธ์นาง จึงตรัสถามความเป็นมาของนาง เมื่อทรงทราบเรื่องแล้วทรงดำริว่า ภัณฑะไม่มีเจ้าของ ก็ต้องตกเป็นของหลวง จึงทรงรับนางกลับพระราชวัง แล้วอภิเษกไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี ผู้เป็นที่รัก พระนามว่า พระนางอุทุมพรเทวี เพราะทรงได้นางมาจากต้นอุทุมพร (ต้นมะเดื่อ)   อยู่มาวันหนึ่ง พระนางอุทุมพรเทวี ประทับบนรถพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระราชา เสด็จสู่สวนหลวง ทอดพระเนตรเห็นปิงคุตรมาณพ ผู้กาลกรรณีนั้นกำลังถางทางอยู่ ทรงดำริว่า บุรุษกาลกรรณีนี้ ไม่สามารถจะทรงสิริเห็นปานดังนี้ไว้ได้ แล้วทรงพระสรวล พระราชากริ้ว พระนางตรัสถามว่า หัวเราะอะไร พระนางจึงทูลตอบตามความเป็นจริง พระราชาไม่ทรงเชื่อ จะทรงใช้พระแสงดาบฆ่าพระนาง พระนางทรงเกรงกลัวพระราชาอาญา จึงทรงร้องขอ ให้ตรัสถามบัณฑิตทั้งหลายดูก่อน เมื่อเสนกบัณฑิตตอบว่าไม่เชื่อ พระนางยิ่งทรงหวาดหวั่นกว่าเดิม พระราชาจึงทรงถามมโหสถบัณฑิตต่อว่า
               " ดูก่อนมโหสถบัณฑิต สตรีรูปงามผู้สมบรูณ์ ด้วยอาการมารยาททุกอย่าง แต่ก็มีบุรุษไม่ปรารถนาสตรีนั้น เจ้าเชื่อหรือไม่ "
               มโหสถบัณฑิตกราบทูลว่า   " ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์เชื่อ ถ้าหากบุรุษนั้น เป็นผู้ไม่มีบุญ และเป็นคนกาลกรรณี เพราะสิริกับกาลกรรณีย่อมอยู่ร่วมกันไม่ได้ ไม่ว่าในกาลไหนๆ "
               พระราชาทรงฟังคำมโหสถแล้ว ทรงหายกริ้วตรัสว่า  " แน่ะ เจ้าบัณฑิต ถ้าไม่ได้เจ้าวันนี้ เราจักเสื่อมจากสตรีรัตนะ (นางแก้ว) นี้ "   แล้วทรงพระราชทานกหาปณะหนึ่งแสน บูชามโหสถ ฝ่ายพระนางอุมพรเทวี ทรงรอดชีวิตมาเพราะมโหสถ จึงขอพระบรมราชานุญาต ตั้งมโหสถไว้ ในฐานะน้องชาย สามารถไปมาหาสู่กันได้ทุกวันเวลา และร่วมบริโภคอาหารด้วยกันทุกครั้ง พระราชาทรงอนุญาต ตามคำขอของพระนางทุกประการ
                                                        ชิงชัยด้วยปัญญา
             
พระเจ้าจุลนีพรหมทัต แห่งปัญจาลนคร ผู้ทรงมีพระราชา ร้อยเอ็ดพระองค์แวดล้อม ได้เสด็จยาตราทัพใหญ่ มาล้อมเมืองมิถิลาถึง 3 ชั้น ด้วยพลรบมากมายประมาณมิได้ ทั้งช้าง ม้า รถ และพลเดินเท้า แม้เป็นเช่นนี้ พระมโหสถบัณฑิต ก็มิได้มีความหวาดหวั่น ได้กราบทูล พระเจ้าวิเทหราชให้เสวย และรื่นรมย์ในกามสุขสมบัติ พระเจ้าจุลนีพรหมทัต จะละกองทัพปัญจาละ หนีไปเอง ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะไม่สามารถยึดเอาเมืองมิถิลาได้ ในที่สุดก็พ่ายแพ้ เพราะอุบายปัญญา
                หนึ่งปีต่อมา เกวัฏพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ ของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ก็คิดอุบายขึ้นมาได้ คือ การใช้เหยื่อล่อ โดยใช้พระธิดาปัญจาลจันที ผู้มีพระรูปโฉมงดงามเป็นเหยื่อ ตกเอาพระเจ้าวิเทหราช ให้มาติดเบ็ดพร้อมด้วยมโหสถ แล้วจัดการประหารเสียทั้งสองคน ได้กราบทูลแผนอุบายนี้ ต่อพระเจ้าจุลนีพรหมทัต และพระองค์ก็ทรงยินยอมที่จะปฏิบัติตาม แล้วแผนอุบายก็เริ่มขึ้น ได้มีบรรดานักร้อง นักเขียน นักดนตรี และนักกวีทั้งหลาย พากันหลั่งไหล เข้าไปยังมิถิลานคร ต่างคนต่างก็โฆษณา ป่าวร้องพรรณาความงาม ของพระนางปัญจาลจันที ว่าเป็นนางแก้ว ผู้คู่ควรแต่เฉพาะพระราชา ผู้ทรงพระปุญญเดชานุภาพเท่านั้น พระราชาที่ว่านี้ ก็มีเพียงพระองค์เดียว คือ พระเจ้าวิเทหราชกรุงมิถิลา เพราะทรงเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ มีเดชานุภาพ เทียบเท่าพระเจ้าจุลนีพรหมทัต แห่งปัญจาลนครทีเดียว
               พระเจ้าวิเทหราช ทรงดีพระทัยนัก ที่ทรงทราบข่าวนี้ ได้ตกลงพระทัยที่จะเสด็จ ไปปัญจาลนคร เพื่อทรงรับพระนางปัญจาลจันที มาอภิเษกเป็นพระมเหสี ได้ทรงปรึกษากับบัณฑิต ทั้ง 4 คือ เสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ และเทวินทะ ทุกคนเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย แต่บัณฑิตคนที่ 5 คือ มโหสถไม่เห็นด้วย เพราะพิจารณาเห็นว่า เป็นแผนอุบายประการหนึ่ง จึงกราบทูลพระราชาว่า  " พระเจ้าพรหมทัตนั้น คิดจะปลงพระชนม์พระองค์ ด้วยแผนอุบายเหมือนนายพรานจับเนื้อตัวผู้ โดยใช้เนื้อตัวเมียเป็นเหยื่อล่อ ปลาอยากกินของสดคือเหยื่อ ย่อมกลืนเบ็ดที่เขาเอาเหยื่อปกปิดไว้ มันย่อมไม่รู้จักความตายของมัน ฉันใด ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงปรารถนากาม ย่อมไม่ทรงทราบ พระราชธิดาของพระเจ้าจุลนี (ผู้เป็นเสมือนเหยื่อ ล่อพระองค์ให้ติดเบ็ด) เหมือนปลาไม่รู้จักความตาย ของตนฉะนั้น ถ้าพระองค์เสด็จไปยังปัญจาลนคร พระองค์จักทรงอยู่ในอันตรายอันใหญ่หลวง ประดุจภัยมาถึงมฤคที่หลงรักเนื้อสาว ที่เป็นเหยื่อติดตามไปจนถึงประตูบ้านนายพราน แล้วถูกนายพรานฆ่าเสียฉะนั้น "   พระราชาทรงพระพิโรธมโหสถ ทรงขับไล่ออกไปเสียจากที่ประชุม แต่มโหสถบัณฑิต ก็ไม่คิดโกรธแค้นแต่พระองค์ เมื่อสืบเรื่องราวแน่ชัดว่า เป็นแผนอุบาย ของเกวัฏพราหมณ์ และพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ที่จะจับพระเจ้าวิเทหราช และตนเองฆ่าเสีย เพื่อแก้แค้นที่เคยแพ้มา เมื่อคราวก่อนจริงๆ มโหสถบัณฑิต จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชอีกครั้ง ทูลถามการตกลงพระทัย เมื่อทราบว่าพระราชา จะเสด็จปัญจาลนครแน่นอน จึงขอให้ทรงยับยั้งรอคอย ให้ตนได้ตระเตรียมการเสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วจะกราบทูลให้ทรงทราบเพื่อเสด็จในภายหลัง ดังนี้ มโหสถพร้อมด้วยบริวาร ได้เดินทางล่วงหน้าไปปัญจาลนครทันที แล้วจัดสร้างที่พักไว้ตลอดรายทาง ห่างกันแห่งละโยชน์หนึ่ง จนถึงปัญจาลนคร และได้สร้างพระราชนิเวศน์ ที่ประทับของ พระเจ้าวิเทหราช สร้างอุโมงค์ 2 สาย หนึ่งเริ่มจากภายในพระราชนิเวศน์นั้น ไปทะลุที่หน้าพระราชวัง พระเจ้าจุลนีพรหมทัต และอีกสายหนึ่ง เริ่มจากที่เดิมไปโผล่ออกนอกเมือง เมื่อจัดการทุกอย่าง เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทำหนังสือกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช ให้เสด็จพระราชดำเนิน พระเจ้าวิเทหราช เสด็จยาตราทัพไปปัญจาลนคร ด้วยพระอิสริยยศอันยิ่งใหญ่ ประทับที่พระราชนิเวศน์ ที่มโหสถสร้างเตรียมไว้ แล้วมีหนังสือกราบทูลพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ให้ทรงทราบเพื่อทรงนำพระราชธิดา มาอภิเษกสมรส ณ ที่นั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัต ก็ทรงตอบตกลงตามนั้น ฝ่ายมโหสถบัณฑิตได้สั่งทหารของตน ไปจับพระราชมารดา พระอัครมเหสี พระราชกุมาร และพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต มาไว้ในพระราชนิเวศน์ ของพระเจ้าวิเทหราชด้วยอุบาย โดยใช้อุโมงค์ที่ขุดไว้ ซึ่งไม่มีใครทราบ แม้แต่พระเจ้าจุลนีพรหมทัต ก็ไม่ทรงทราบว่ามีอุโมงค์ และไม่ทรงทราบว่าขณะนี้ บุคคลใกล้ชิดของพระองค์ ได้ถูกมโหสถ จับไปหมดแล้วในตอนกลางคืน พอรุ่งเช้า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงยกทัพใหญ่ไปล้อม พระราชนิเวศน์ ของพระเจ้าวิเทหราชไว้อย่างแน่นหนา
               พระเจ้าวิเทหราช ทอดพระเนตรเห็นกองทัพใหญ่ มาล้อมไว้ก็ตกพระทัย เมื่อทรงทราบว่า เป็นกองทัพของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต จะมาจับพระองค์ปลงพระชนม์ ยิ่งหวาดหวั่นพระทัย ตรัสเรียกบัณฑิตมาทรงปรึกษาหารือ บัณฑิตทั้ง 4 คนก็หวาดหวั่นขวัญหาย คนหนึ่งแนะนำ ให้ผูกคอตาย คนหนึ่งแนะนำ ให้กินยาพิษตาย คนหนึ่งแนะ ให้จับอาวุธฆ่ากันเองให้ตาย คนหนึ่งแนะ ให้เอาไฟเผาพระราชวังนี้เสียเลย แล้วยอมตายไปพร้อมๆ กัน จะได้ไม่ถูกจับไปฆ่าให้อัปยศ พระราชาวิเทหราชทรงสดับคำบัณฑิต ทั้ง 4 ยิ่งทรงเศร้าเสียพระทัย จึงทรงอ้อนวอนมโหสถ ให้หาทางช่วยเหลือ มโหสถแกล้งกราบทูลว่า ตนช่วยไม่ได้แล้วขอให้บัณฑิต ทั้ง 4 หาทางช่วย เพราะทั้ง 4 ท่านนั้นมีปัญญา สามารถยิ่งกว่าใคร อีกทั้งเป็นผู้สนับสนุนให้พระองค์เสด็จมา ส่วนตนเองได้คัดค้านแต่แรก ว่าเป็นแผนอุบายแต่ไม่ทรงเชื่อ มิหน่ำซ้ำทรงพิโรธสั่งขับไล่ตนเสีย จึงขอให้พระราชา และท่านบัณฑิตคิดหาทางกันเอง แต่บัณฑิตทั้ง 4 ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ได้แต่อ้อนวอนขอให้มโหสถช่วย
               ในที่สุด มโหสถบัณฑิตก็รับปาก ที่จะช่วยเปลื้องทุกขภัยใหญ่ครั้งนี้ จึงสั่งให้ทหารของตน เปิดอุโมงค์แล้วให้ชนทั้งหลาย มีพระราชา เป็นต้น พร้อมกับพระญาติวงศ์ ของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ที่จับมาเสด็จลงไปในอุโมงค์นั้น และให้ทหารพาทั้งหมดไปมิถิลาทันที ส่วนตนเองออกไปพบ พระเจ้าจุลนีพรหมทัต ทูลให้ยกทัพกลับเสีย เพราะบัดนี้พระเจ้าวิเทหราช พร้อมด้วยพระญาติวงศ์ ได้เสด็จไปมิถิลานครโดยทางลับแล้ว ถ้าไม่ทรงเชื่อขอให้ทรงส่งทหาร ไปตรวจดูในพระราชวังว่า พระญาติวงศ์ยังทรงอยู่หรือไม่ เมื่อทรงส่งคนไปตรวจดู จึงทรงทรบว่าเป็นจริง ดังคำมโหสถทุกประการ ทรงดำริว่า ศึกครั้งนี้พระองค์แพ้ ตั้งแต่ยังไม่ได้รบกัน แผนอุบายก็ล้มเหลว ต้องสูญเสียเหยื่อ อันหาค่าประมาณมิได้ไปเปล่าๆ มโหสถบัณฑิตนี้ฉลาดเลิศล้ำจริงๆ ได้ตรัสชมเชย มโหสถแล้วทรงชักชวนให้อยู่กับพระองค์ โดยพระองค์จะพระราชทานลาภ สักการะให้เป็น 2 เท่า ของที่เคยได้ เมื่อมโหสถไม่ยอมรับ จึงพระราชทานรางวัลให้มากขึ้นอีก เช่น ทอง บ้านส่วย แคว้นกาสี ทาสี 400 คน และภรรยา 100 คน แต่มโหสถบัณฑิตก็ไม่รับ และได้กราบลาพระเจ้าจุลนีพรหมทัต พาทหารและบริวารของตน กลับมิถิลา
               พระเจ้าวิเทหราช ทรงชื่นชมโสมนัสยิ่ง ตรัสกับเสนกะว่า  " ท่านอาจารย์ การอยู่ร่วม กับบัณฑิตนี้เป็นสุขดีหนอ เพราะว่าบัณฑิตมโหสถ ได้ปลดเปลื้องพวกเราผู้ตกอยู่ในเงื้อมือข้าศึก ประดุจบุคคลปลดเปลื้องฝูงนก ที่ติดอยู่ในกรง หรือฝูงปลาที่ติดแห ฉะนั้น "   ประชาชนชาวมิถิลา ต่างพากันต้อนรับ และนำสักการะเป็นอันมาก มอบให้มโหสถบัณฑิต ด้วยความเลื่อมใสยินดี ความสุขเกษมเปรมปรีดิ์ จึงบังเกิดมีแก่ชนทั่วไปในมิถิลานคร


ขอบคุณบทความจาก http://www.baanjomyut.com/library/10buddha/mahosod.html