พระเตมีย์ ทรงบำเพ็ญขันติบารมี



 เตมิยราชกุมาร หรือพระเตมีย์ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากาสิกราช กับพระนางจันทาเทวี ในพระนครพาราณสี เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น วันหนึ่ง ได้ทรงเห็นพระราชบิดา ทรงสั่งให้ลงโทษโจร 4 คน อย่างทารุณ คือ คนหนึ่งให้เฆี่ยนด้วยแส้หนาม หนึ่งพันครั้ง คนหนึ่งให้ล่ามโซ่ตรวนขังไว้ในเรือนจำ คนหนึ่งให้เอาหอกทิ่มแทงให้ทั่วตัว และอีกคนหนึ่ง ให้เสียบด้วยหลาวแหลมจนตาย พระกุมารทรงเห็นแล้วทรงหวาดเสียว สะดุ้งกลัวยิ่งนัก ทรงระลึกชาติในหนหลังได้ว่า เมื่อชาติก่อนนั้น พระองค์เคยเป็นพระราชาแห่งเมืองนี้ เพราะบาปกรรม ที่ทรงกระทำในครั้งนั้น ทำให้พระองค์ต้องตกนรกถึงแปดหมื่นปี บัดนี้ พระองค์กลับมาเกิด ในเมืองนี้อีก ต่อไปก็คงจะได้เป็นผู้ครองเมืองนี้ และกระทำบาปกรรม เช่นเดียวกับพระบิดา ซึ่งก็จะต้องไปสู่นรกอีกแน่นอน เมื่อทรงดำริเช่นนี้แล้ว ทรงสังเวชสลดพระทัย ไม่ทรงปรารถนา ที่จะครองราชสมบัติอีกต่อไป ทรงนึกหาอุบายวิธีที่จะปลีกตัว ให้พ้นจากราชสมบัติ จนพระมนัสหดหู่ เศร้าหมองไม่มีสุข
               ครั้งนั้น เทพธิดาซึ่งเคยเป็นพระมารดาในอดีตชาติ ได้แนะอุบายให้พระกุมาร จึงทรงอธิษฐานจิตให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวที่จะปฏิบัติตามอุบายนั้น คือ แสร้งทำเป็นคนง่อย เป็นคนหูหนวก และเป็นใบ้ แม้จะถูกทดสอบอย่างไร ก็ไม่แสดงพิรุธให้ปรากฏ ยอมทนทุกข์ทรมาน โดยไม่ปริปาก จนพระกุมารมีพระชนมายุ 16 พรรษา พวกพราหมณ์พากันทูลทำนายว่า พระกุมารเป็นคนกาลกิณี หากให้อยู่ในพระราชวังจะมีภัยเกิดขึ้น พระราชากาสิกราชจึงตรัสสั่ง ให้นำพระกุมารไปฝังเสียที่ป่าช้า โดยมอบให้นายสารถีขับรถม้า บรรทุกพระกุมารไปจัดการ เพียงผู้เดียว
               ขณะที่นายสารถีกำลังขุดหลุมนั่นเอง พระกุมารก็เสด็จลงจากรถ ทรงทดลองพระกำลัง โดยเสด็จดำเนินไปมา แล้วทรงจับท้ายรถตวัดแกว่ง เมื่อทรงเห็นว่ายังมีพระกำลังเหมือนเดิม จึงเสด็จมาหานายสารถี แล้วทรงเล่าเรื่องให้ฟัง จากนั้น ทรงแสดงธรรมเป็นอันมากแก่นายสารถี เป็นต้นว่า
               " ดูก่อนนายสารถี ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำในสิ่งไม่เป็นธรรม บุคคลนั่ง นอนใต้ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น ผู้กระทำเช่นนั้น ชื่อว่า ประทุษร้ายมิตร และผู้ประทุษร้ายมิตรนั้น เป็นคนเลวทราม พระราชาเป็นเสมือนต้นไม้ เราเป็นเสมือนกิ่งไม้ ตัวท่านเป็นเสมือนคนอาศัยร่มเงา ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร จะไปสู่แห่งหนตำบลใด ย่อมพ้นภัยในที่ทั้งปวง ได้รับการกราบไหว้ บูชา จากผู้คนในที่นั้นๆ มีของกินของใช้ไม่ขาดแคลน ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ จักอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป....."
               พระเตมิยกุมาร ทรงตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยว ที่จะทรงผนวชในป่าคนเดียว แม้นายสารถี จะทูลอ้อนวอนหลายครั้ง เพื่อให้เสด็จกลับพระนครก็ไม่ทรงคล้อยตาม ตรัสแก่นายสารถีว่า พระบิดาทรงสละพระองค์แล้ว พระมารดาก็ทรงอนุญาตแล้ว ประชาชนก็ไม่มีใครต้องการพระองค์แล้ว พระองค์จะไม่เสด็จกลับไปอีก จะมีประโยชน์อะไรในการบริโภคกาม พระองค์บวช ยังจะมีประโยชน์กว่า จากนั้น ทรงเล่าเรื่องในอดีตชาติ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระราชา และเคยตกนรก ถึงแปดหมื่นปี ให้นายสารถีฟัง จนนายสารถีมีความเลื่อมใส ขอบวชตามพระองค์ด้วย แต่พระกุมารไม่ทรงยินยอม ตรัสสั่งให้นายสารถีนำรถ และเครื่องประดับไปคืนพระราชา และแจ้งข่าวการบวชของพระองค์ ให้พระราชบิดาทรงทราบ นายสารถีจึงจำใจจำยอม กลับพระราชวัง ตามที่พระกุมารตรัสสั่ง
               เมื่อพระเจ้ากาสิกราชได้ทรงทราบว่า พระกุมารมิได้เป็นใบ้ ทรงพูดได้เหมือนคนธรรมดา ทั้งมิได้เป็นง่อย และหูหนวกแต่ประการใด ทรงโสมนัสยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสสั่งเสนาข้าราชบริพาร ทั้งปวง ให้จัดเตรียมเครื่องอุปกรณ์พิธี ที่จะอภิเษกพระกุมารไว้ในราชสมบัติ แล้วพระองค์ ผู้มีนายสารถีนำทาง ก็เสด็จขึ้นม้าทรงตรงไปหาพระกุมารที่ป่าช้า โดยมีเสนาข้าราชบริพาร เป็นจำนวนมากติดตามไป เมื่อเสด็จไปถึงที่ซึ่งเคยเป็นป่าช้ามาก่อน บัดนี้ กลายเป็นสถานที่ อันน่ารื่นรมณ์ มีอาศรมอยู่หนึ่งหลัง นั่งไว้ด้วยพระฤาษีองค์หนึ่ง ซึ่งก็คือพระเตมิยฤาษี นั่นเอง
               พระเตมิยฤาษีทอดพระเนตร เห็นพระราชากำลังเสด็จมา ด้วยพระเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ จึงทรงถวายการต้อนรับ ด้วยอัธยาศัยไมตรี ทรงสนทนาไต่ถามทุกข์สุขตามธรรมเนียม พระราชาทรงอ้อนวอน ให้พระเตมิยฤาษีเสด็จกลับ ไปครองราชสมบัติ จนกว่าจะมีพระราชบุตร ราชธิดา และมีพระชนมายุมากแล้วจึงค่อยทรงผนวช ตอนนี้ยังทรงเป็นหนุ่ม ประทับอยู่ในป่าคนเดียว จะมีประโยชน์อะไรเล่า
  พระเตมิยฤาษีทูลตอบพระราชาว่า   " การบวชเป็นเรื่องของคนหนุ่ม คนหนุ่มนั่นแหละ ควรประพฤติพรหมจรรย์ ข้อนี้บัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญแล้ว อาตมภาพจักประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ต้องการราชสมบัติ อาตมภาพเคยเห็นพวกเด็กเป็นอันมาก เกิดมาแล้วยังไม่แก่ก็ตาย ของที่น่ารักต้องสิ้นไปตายไป บุคคลไม่ว่าจะเป็นชายหนุ่ม หรือหญิงสาวก็ล้วนต้องตาย ใครจะประกันได้ว่า เรายังหนุ่มสาว ยังไม่ตาย อายุของคนเราเป็นของน้อย วันคืนล่วงไปๆ ก็ย่อมทำให้ อายุของเราแก่มากขึ้น ใกล้ความตายมากขึ้น เหมือนปลาในน้ำน้อย ฉะนั้น เมื่อโลกถูกครอบงำ ห้อมล้อม ด้วยสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพในราชสมบัติทำไมกัน "  พระเตมิยฤาษี ตรัสต่อไปว่า
               " สัตว์โลกถูกความตายครอบงำไว้ ถูกความแก่ห้อมล้อมไว้ สิ่งไม่เป็นประโยชน์คือ คืนและวันอันเป็นไปอยู่ มหาบพิตร เมื่อด้ายที่เรากำลังทออยู่ ช่างถูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอ ก็เหลือน้อยเท่านั้นฉันใด ชีวิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม่น้ำไม่ไหลกลับไปสู่ที่สูงฉันใด อายุของคนเรา ก็ไม่ถอยกลับไปสู่ความเป็นเด็กอีกฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่งย่อมพัดพา เอาต้นไม้ที่เกิดริมฝั่ง ให้หักโค่นลอยไปฉันใด ปวงชนก็ย่อมถูกชรา และมรณะพัดพาไปฉันนั้น "
               พระเจ้ากาสิกราช ทรงอ้อนวอนอีก ให้เสด็จกลับพระราชวัง แล้วพระองค์จะทรงมอบกองทัพ ทั้งมวลให้ ตลอดจนถึงราชสมบัติ รวมทั้พระสนม กำนัลผู้งามสะคราญ ล้วนแต่เป็นราชธิดา ผู้สูงศักดิ์คอยห้อมล้อม ปรนนิบัติรับใช้ พระเตมิยฤาษีจึงทูลว่า
               " มหาบพิตรจะให้อาตมภาพเสื่อม เพราะทรัพย์ทำไม บุคคลจะพึงตายเพราะภริยาทำไม ประโยชน์อะไร ด้วยความเป็นหนุ่มสาวที่ต้องแก่ ทำไมจะต้องให้ความแก่ครอบงำ จะมามัวเพลิดเพลินทำไม ในโลกอันมีความแก่ และความตายนี้ ประโยชน์อะไร ด้วยการแสวงหาทรัพย์ ด้วยบุตรภริยา อาตมภาพเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก จะไม่ยอมกลับ ไปหาเครื่องผูกนั้นอีก ผลไม้ที่สุกแล้วย่อมถึงภัยคือร่วงหล่น ไปฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว ย่อมถึงภัยคือความตายฉันนั้น ชนเป็นอันมากเห็นกันอยู่ในเวลาเช้า บางพวกพอตกเวลาเย็น ก็ไม่ได้เห็นกัน หรือเห็นกันอยู่ในเวลาเย็น พอถึงเวลาเช้าก็ไม่เห็นกัน ในสงครามคือความตายนั้น ย่อมไม่มีการรบด้วยกำลังกองทัพ ไม่อาจเอาชัยมฤตยูด้วยเวทมนตร์ หรือยุทธวิธี หรือสินทรัพย์ได้ ความตายไม่มียกเว้นให้ใคร ไม่ว่ากษัตริย์ พราหมณ์ พ่อค้า ลูกจ้าง คนจัณฑาล หรือคนขนขยะใดๆ ย่อมย่ำยีทั้งหมดทีเดียว บุคคลควรรีบทำความเพียรในวันนี้ ใครจะพึงรู้ได้ว่าความตาย อาจจะมาในวันพรุ่ง เพราะมัจจุราชจะไม่ผัดผ่อนให้ใครเลย เชิญเสด็จกลับเถิดมหาบพิตร อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ "
               พระราชากาสิกราชทรงสดับคำสอน ของพระเตมิยฤาษีแล้ว ทรงมีศรัทธาเลื่อมใส ขอผนวชในสำนักพระเตมิยฤาษีด้วย แม้พวกเสนาข้าราชบริพาร และประชาชนที่มาประชุมกัน ในที่นั้นต่างก็มีความเลื่อมใส ได้บวชตามพระราชาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ได้มีพระราชา อีกหลายพระองค์ ทรงผนวชตามพระเตมิยฤาษี

ขอขอบคุณบทความจาก http://www.baanjomyut.com/library/10buddha/tame.html